
ประวัติ
ชื่อ : สุนทร ใจมาบุตร
ประสบการณ์ :
- เยาวชนว่ายน้ำทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 ปี
- แชมป์ไตรกีฬาระดับประเทศ 3 สมัยติดต่อกันในปี 2548
- ปี 2549-2550 ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งพัทยาไตรกีฬาอินเตอร์เนชั่นแนล
- อันดับที่ 2 รายการเอเชียนแชมป์เปี้ยนชิพ รุ่นโอเวอร์ออล แต่เป็นอันดับที่ 1 ของคนไทย
- ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนไตรกีฬา
การที่ยังมีลมหายใจแล้วยังได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้างนั่นคือค่าของผม
“ผมไม่เชื่ออะไรกับการตัดสินคน ทำได้ก็ฝึกต่อ ทำไม่ได้ก็กลับไปฝึกใหม่มีแค่นี้ ชีวิตอยู่ที่ทำกับไม่ทำ ถ้าผมเชื่อหมอผมก็ยังไม่ได้ว่ายน้ำ ไม่ได้มาทำงานทุกวันนี้หรอก”
สุนทร ใจมาบุตร หรือ “โค้ชกระสุน” อดีตนักกีฬาไตรกีฬาทีมชาติไทยที่มีสมรรถนะการเล่นกีฬาว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักยานด้วยสถิติความเร็วเป็นอันดับหนึ่ง ประสบความสำเร็จทั้งการยอมรับชื่อเสียง เงินทอง รุ่งโรจน์ในเส้นทางไตรกีฬาเรียกว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ด้วยอุบัติเหตุกระโดดสระว่ายน้ำแล้วพลาดท่ากระแทกที่หลังอย่างรุนแรง ร่างกายเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปและอาจต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต แต่เมื่อเขายอมรับความในทุกข์จากการสูญเสียทั้งหมด จนค้นพบจนคุณค่าที่แท้จริงของการมีชีวิตด้วยมุมมองใหม่ในร่างพิการ ฝึกกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องจนกลับมาช่วยเหลือตัวเองและว่ายน้ำได้
โค้ชกระสุน สูญเสียร่างกายแต่ไม่ได้สูญเสียศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้ เขากลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งกับการเป็นโค้ชกีฬาว่ายน้ำให้กับนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ก้าวไปสู่การเป็นโค้ชไตรกีฬา เมื่อ อุ้ย ทัศน์วรรณ ศิริวงศ์ นักกีฬาไตรกีฬาซึ่งกำลังบาดเจ็บมาพบกับเขาและขอให้เขาวางโปรแกรมการฝึกซ้อมให้ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือน โปรอุ้ยสามารถคว้าที่ 1 ประเภทคนไทยและคว้าที่ 3 ประเภทนานาชาติจากการแข่งขันลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา ทีมกระสุนไตรกีฬาของเขาไม่ได้เปิดรับเฉพาะคนเก่งหรือมีชื่อเสียงเท่านั้นแต่เขาให้โอกาสคนที่ไม่มีพื้นฐานแต่มีใจรักในกีฬาได้เข้ามาอยู่ในทีม แม้เขาจะแตกต่างจากโค้ชทั่วไป ไม่สามารถลงไปจัดท่าทางที่ถูกต้องให้นักกีฬาได้ แต่การทำการบ้านอย่างหนักและใช้ประสบการณ์ของตัวเองในอดีตมาแบ่งปัน ติดตามการฝึกซ้อม ที่สำคัญคือสร้างกำลังใจให้กับนักกีฬาจนสามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้จนคว้าแชมป์สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยจากการแข่งขันในต่างประเทศในหลายเวที
การยอมรับความจริงแต่ไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดทางร่างกาย ทำให้โค้ชกระสุนทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้และใช้ชีวิตอย่างตระหนักในคุณค่า เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประสบความสูญเสียไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจให้ตื่นจากความทุกข์แล้วเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่การหาหนทางที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและมีความสุข เป็นต้นแบบให้กับนักกีฬา ตลอดจนโค้ช ให้ทุ่มเท ฝึกฝน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค เช่นที่โค้ชกระสุนไม่เคยนำความพิการมาเป็นข้ออ้างไม่ว่าจะเรื่องการทำหน้าที่โค้ช รวมถึงการฝึกซ้อมตนเองเพื่อจะทบทวนพื้นฐานทางกีฬา ใช้สอน รวมไปถึงการฝึกซ้อมตัวเองอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมสมรรถนะทางกายที่ โค้ชกระสุน อาจจะพาตนเองหวนคืนสู่สนามไตรกีฬาอีกครั้งในฐานะนักกีฬาพิการ
“ตอนนี้ผมฝากความฝันไว้กับนักกีฬา เขายังไปได้อีกไกลและเวลาลงแข่งขันเขาก็เหมือนแขนขาของผมที่ขาดหายไป ผมอยากทำให้เขาประสบความสำเร็จ เมื่อผมได้เห็นนักกีฬาชนะพร้อมกับชูธงชาติในประเทศต่างๆ แล้ว ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่”
“การที่ยังมีลมหายใจแล้วยังได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้างนั่นคือค่าของผม”
สุนทร
ดร.พงศกร สายเพ็ชร์
ถ้าเด็กส่วนใหญ่เรียนวิทยาศาสตร์ดีๆ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ถูกหลอกง่ายๆ
ณัฐวุฒิ ศรีหมอก
สำหรับเราใช้คำว่าพรสวรรค์ไม่น่าจะได้ ต้องใช้คำว่าความอยากเป็นและความพยายาม
ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล
เราทำความดี ใครจะว่าเราสร้างภาพอะไรก็แล้วแต่ ขอให้คิดว่าภาพที่เราสร้างเป็นภาพที่สวยงาม เป็นภาพที่สร้างแล้วสังคมมีความน่าอยู่